ภาษา
ปรับขนาดตัวอักษร
"นครนนท์เมืองน่าอยู่ ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีบริการที่เป็นเลิศ และบริหารจัดการที่ดี"
เบอร์โทรศัพท์ :
รหัสผ่าน :
 
 
องค์ความรู้เทศบาลนครนนทบุรี
คุณธรรมจริยธรรม พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์เข้า สนช. พรุ่งนี้ ค้นบ้าน ยึดคอมฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินไซเบอร์ได้

พ.ร.บ.มั่นคงไซเบอร์เข้า สนช. พรุ่งนี้ ค้นบ้าน ยึดคอมฯ ประกาศภาวะฉุกเฉินไซเบอร์ได้Thu, 2019-02-21 18:29

ดูร่าง พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่จะเข้า สนช. วันพรุ่งนี้ หลังแก้ไขไปหลายรอบ นิยามภัยคุกคามยังไม่ยกเว้นเรื่องเชิงเนื้อหา เช่น โพสท์เฟสบุ๊ค ตั้งองค์กร 3 หน่วย ออกนโยบาย-กำกับทั้งรัฐ เอกชน ให้อำนาจเจ้าหน้าที่เข้าค้นบ้าน ยึดเครื่องมือได้ ขอข้อมูลเรียลไทม์แบบไม่ผ่านศาล ภาวะฉุกเฉินไซเบอร์ให้อำนาจรัฐล้นมือ  ขอความร่วมมือแต่มีบทลงโทษ แถมอุทธรณ์ได้เป็นบางกรณี

21 ก.พ. 2562 ในวันพรุ่งนี้ (22 ก.พ. 2562) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. หนึ่งในร่างฯ ที่มีการจับตามองจากสาธารณชน เนื่องจากความกังวลเรื่องอำนาจของหน่วยงานรัฐที่จัดตั้งขึ้นใหม่ที่อาจจะไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพของชาวเน็ตในโลกออนไลน์ ไปจนถึงการแข่งขันของบริษัทเอกชน

ร่างฯ มีการจัดทำรับฟังความคิดเห็นหลายรอบ มีการแก้ไขหลายที่ รอบนี้ สนช. จะพิจารณาร่างฯ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแล้ว ซึ่งหาก สนช. รับรอง ก็จะไปสู่วาระที่สาม และการลงมติให้ร่างฯ มีผลเป็นกฎหมายต่อไป ประชาไทจึงชวนดูหลักใหญ่ใจความในส่วนต่างๆ และข้อสังเกตในร่างฯ ที่จะได้รับพิจารณาในวันพรุ่งนี้ปฏิทินประชาไทxไข่แมว2020

ข่าวรายละเอียดร่างฯ ฉบับที่ผ่านมา

อ่านร่างฯ เข้า สนช. พรุ่งนี้ ฉบับเต็ม

นิยามภัยไซเบอร์

(ดูภาพขนาดใหญ่ที่นี่)

ในมาตราสามระบุถึงนิยามต่างๆ ไว้ ในด้านภัยคุกคามยังไม่พบว่ามีการจำกัดความภัยคุกคามไซเบอร์ และเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในทางที่ยกเว้นเรื่องเชิงเนื้อหา เช่น โพสท์เฟสบุ๊ค อัพโหลดวิดีโอหรือส่งอีเมล์ ดังนี้

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรการหรือการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกัน รับมือ ลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามไซเบอร์ทั้งจากในและนอกประเทศ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เศรษฐกิจ ทางทหาร และควาามสงบเรียบร้อยในประเทศ

ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การกระทำหรือการดำเนินการใดๆ โดยมิชอบ โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงที่จะก่อให้เกิดความเสียหาย หรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

ไซเบอร์ ข้อมูลและการสื่อสารที่เกิดจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมและระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกันที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป

เหตุการณ์เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เหตุการณ์ที่เกิดจากการกระทำหรือการดำเนินการใดๆ ที่มิชอบ ซึ่งกระทำผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือควาาามั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนใช้ในกิจการของตน ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานรัฐหรือเอกชน หรือบุคคลซี่งมีกฎหมายหรือระเบียบกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมหรือกำกับ ดูแลการดำเนินกิจการของหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานรัฐหรือเอกชนซึ่งมีภารกิจหรือให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ตามร่างฯ จำแนกเอาไว้เป็นประเภทดังนี้

  1. ด้านความมั่นคงของรัฐ
  2. บริการภาครัฐที่สำคัญ
  3. การเงินการธนาคาร
  4. เทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม
  5. การขนส่งและโลจิสติกส์
  6. พลังงานและสาธารณูปโภค
  7. สาธารณสุข
  8. ด้านอื่นตามคณะกรรมการ (จะกล่าวถึงต่อไป) ประกาศกำหนดเพิ่มเติม

ตั้งองค์กร 3 หน่วย ออกนโยบาย-กำกับรัฐ เอกชน

ร่างฯ นี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช. - NCSC) โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วยรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)  

นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินเจ็ดคนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ กฎหมาย หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

คณะกรรมการจะมีและจะให้มีเลขาธิการเป็นกรรมการ และเลขานุการ 

คณะกรรมการฯ มีหน้าที่คร่าวๆ คือเสนอนโยบาย แผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงไซเบอร์ ส่งเสริม สนับสนุน การรักษาความมั่นคงไซเบอร์ ทำแผนปฏิบัติการรักษาความมั่นคงไซเบอร์ ให้ ครม. ให้ความเห็นชอบ กำหนดนโยบายการบริหารจัดการให้กับหน่วยงานรัฐ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ  ไปจนถึงมอบหมายการควบคุมและกำกับดูแล กรอบการดำเนินงานด้านความมั่นคงไซเบอร์ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และติดตามประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบาย และให้ข้อเสนอแนะแก่ ครม. หรือกระทรวงดีอี

การประชุมของคณะกรรมการนั้นให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด ซึ่งสามารถประชุมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีอื่นได้ และการได้รับเบี้ยประชุม หรือค่าตอบแทนก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

นอกจากคณะกรรมการที่เป็นร่มใหญ่แล้ว ร่างฯ ยังให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงไซเบอร์ในชื่อ คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) มีนายกฯ และ รมว. กระทรวงดีอีเป็นประธานกรรมการ มีผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงดีอี กระทรวงพลังงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการ สมช. ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการทรงคุณวุฒิอีกสี่คน ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ

กกม. มีหน้าที่คร่าวๆ คือติดตามการดำเนินงานตามที่คณะกรรมการได้วางเอาไว้ ดูแลและดำเนินการรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ระดับร้ายแรง  กำหนดกรอบมาตรฐานการรักษาความมั่นคงไซเบอร์ ที่จะใช้เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำ กำหนดระดับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และรายละเอียดมาตรการป้องกัน รับมือ ประเมิน ปราบปราบ ระงับภัยเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ  ไปจนถึงวิเคราะห์สถานการณ์ ประเมินผลกระทบจากภััยเพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาสั่งการเมื่อมีภัยระดับร้ายแรง

ในระดับรองลงมา จะมีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม และงานเลขานุการของคณะกรรมการ และ กกม. สำนักงานมีสถานะเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่หน่วยงานราชการ โดยได้รับงบประมาณจากแหล่งเหล่านี้

  1. ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรร และทรัพย์สินที่ได้รับโอนจาก กระทรวงดีอี และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจด้านความมั่นคงไซเบอร์
  2. เงินงบประมาณแผ่นดินรายปีตามที่รัฐบาลจัดสรร
  3. เงินอุดหนุนจากหน่วยงานรัฐอื่นทั้งในและนอกประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล
  4. ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการหรือรายได้จากการดำเนินงานของสำนักงาน
  5. ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน

งบข้อที่ 1-3 ไม่ต้องนำเข้าคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วน 5-6 หักค่าใช้จ่ายแล้วส่งกลับเข้าคลัง

สำนักงานจะมีเลขาธิการหนึ่งคนไว้รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานและบังคับบัญชาพนักงาน ในส่วนการทำงานของสำนักงาน จะมีคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือ กบส. มาดูแลกิจการบริหารงานทั่วไปของสำนักงาน เช่น การจ่ายงบประมาณประจำปี ออกข้อบังคับการจัดองค์กร การเงิน การบริหารบุคคล  

ในมาตรา 44 ระบุว่าหน่วยงานรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสาารสนเทศ มีหน้าที่ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตามประมวลแนวทางปฏิบัติแลกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงาน และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรา 12 ด้วย

กำกับอะไร  กำกับอย่างไร กับภัยไซเบอร์ 3 ระดับ

การจัดการกับภัยคุกคามไซเบอร์ ตามร่างฯ กำหนดภัยคุกคามเป็นสามระดับ ดังนี้ 

ระดับไม่ร้ายแรง คือภัยที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญถึงระดับที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศหรือการให้บริการของรัฐด้อยประสิทธิภาพลง

ระดับร้ายแรง ภัยที่มีการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมุ่งหมายเพื่อโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทสและการโจมตีดังกล่าว มีผลทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือโครงสร้างสำคัญทางสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ความมั่นคง ของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเสียหายจนไม่สามารถทำงานหรือให้บริการได้

ระดับวิกฤติ

  1. ภัยคุกคามจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระดับที่สูงขึ้นกว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ของประเทศเป็นวงกว้าง ทำให้การทำงานของหน่วยงานรัฐ การให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ให้กับประชาชนล้มเหลวทั้งระบบจนรัฐควบคุมการทำงานส่วนกลางของระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐไม่ได้ หรือการใช้มาตรการเยียวยาตามปกติแก้ไขปัญหาไม่ได้และมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ ของประเทศ ซึ่งอาจทำให้บุคคลจำนวนมากเสียชีวิตหรือระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวนมากถูกทำลายเป็นวงกว้างในระดับประเทศ
  2. ภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียงร้อยของประชาชน หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

เข้าค้นบ้าน ยึดเครื่องมือได้ ขอความร่วมมือแต่มีบทลงโทษ

เมื่อปรากฎแก่ กกม. ว่าเกิด หรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ระดับร้ายแรง กกม. สามารถออกคำสั่งให้สำนักงานดำเนินการรวบรวมข้อมูล ให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน แจ้งเตือนและประสานงาน ทั้งนี้ มาตรา 61 อำนวยความสะดวกให้สำนักงาน โดยให้เลขาธกิการสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ต่อไปนี้

  1. มีหนังสือขอความร่วมมือจากคนที่เกี่ยวข้องเพื่อมาให้ข้อมูล
  2. มีหนังสือขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูลในความครอบครองผู้อื่น
  3. ถามบุคคลผู้มีความรู้ ความเข้าใจสถานการณ์ ข้อเท็จจริง
  4. เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง หรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น

แม้ใช้คำว่าขอความร่วมมือ แต่มาตรา 73 ว่าด้วยบทลงโทษเขียนว่า ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่ส่งข้อมูลให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 61 (1) (2) โดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา 64 ให้อำนาจ กกม. ออกคำสั่งต่อไปนี้เพื่อรับมือและบรรเทาควมเสียหายจากภัยคุกคามระดับร้ายแรง

  1. เฝ้าระวังคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
  2. ตรวจสอบคอมพิวเตอร์ หรือระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อบกพร่อง
  3. กำจัดข้อบกพร่อง หรือชุดคำสั่งไม่พึงประสงค์
  4. รักษาสถานะข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการใดๆ เพื่อดำเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์
  5. เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะเท่าที่จำเป็น

ข้อ 5 นั้นต้องให้เลขาธิการยื่นคำร้องต่อศาลตามเขตอำนาจเสียก่อน

สำหรับบทลงโทษ มาตรา 74 ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกม.ตามมาตรา 64 (1) (2) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทนับแต่วันที่ครบกำหนดเวลาที่ กกม. ออกคำสั่งให้ปฏิบัติจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้ฝ่าฝืนมาตราเดียวกันใน (3) (4) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลมาตรา 64 (5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 65 ในการป้องกัน รับมือเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามระดับร้ายแรง กกม. มีอำนาจดังนี้

  1. ตรวจสอบสถานที่ มีหนังสือแจ้งเหตุอันสมควรไปยังเจ้าของสถานที่ หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามไซเบอร์ หรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์
  2. เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ทำสำเนา สกัดคัดกรองข้อมูลสารสนเทศหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์
  3. ทดสอบการทำงานของคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่่ยวหรือกระทบจากภัยคุกคามไซเบอร์
  4. ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใดๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์ ไม่เกิน 30 วัน เมื่อครบกำหนดแล้วให้ส่งคืน

ในข้อ (2) (3) (4) กกม. ต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจรับผิดชอบก่อน และต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากำลังมีการก่อภัยคุกคามไซเบอร์ระดับร้ายแรง ยื่นเป็นคำร้องไต่สวนคำร้องฉุกเฉินและให้ศาลพิจารณาไต่สวนโดยเร็ว

มาตรา 75 ผู้ใดขัดขวาง ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กกม. หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการตามคำสั่ง กกม. ตามมาตรา