มอญรำ มอญรำ
เป็นนาฏศิลป์ชั้นสูงของชาวมอญ มักแสดงในงานสำคัญๆ เช่น ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง รำหน้าศพ คนมอญเรียกการแสดงนี้ว่า ปัวฮะเปิ่น ปัว แปลว่า มหรสพ ฮะเปิ่น แปลว่า ตะโพน ซึ่งแปลตรง ๆ หมายถึงงานแสดงมหรสพที่อาศัยตะโพนเป็นหลัก ในการแสดงนั้นนักดนตรีและผู้รำจะต้องเข้าใจกัน โดยผู้รำจะต้องทิ้งมือให้ลงกับจังหวะของตะโพน ประวัติ “มอญรำ” ในเมืองไทยนั้น นายพิศาล บุญผูก ชาวมอญเกาะเกร็ด อำเภอปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี กล่าวไว้ว่า ย่าของตนชื่อนางปริก ชาวเรือหัก เกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ มีพี่ชายชื่อเดช เป็นนักดนตรีปี่พาทย์มอญ พื้นเพเดิมอยู่ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เคยไปรับจ้างแสดงดนตรีที่บ้านกะมาวัก เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่าเสมอ ๆ (ช่วงก่อนหน้านั้นชาวมอญถูกพม่ากวาดล้างและพยายามกลืนชาติ ไม่ให้มอญได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน นาฏศิลป์ ปี่พาทย์ มอญรำ จึงได้เลือนหายไปมาก หลังอังกฤษเข้าปกครองพม่าได้เปิดโอกาสให้ชนชาติต่าง ๆ ในพม่าได้แสดงออกในศิลปวัฒนธรรมของตน โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองได้อย่างเสรี ชาวมอญจึงมีการรวมตัวกันฟื้นฟูนาฏศิลป์ดนตรีของตนขึ้น ทว่ามีส่วนที่เลือนหายไปมาก จึงจำต้องติดต่อมายังมอญเมืองไทย เอาปี่พาทย์มอญไปเป็นแบบปรับปรุง) นายเดชจึงได้ไปพบท่ารำมอญโบราณ และนำมาถ่ายทอดให้กับน้องสาว (ย่าปริก) ต่อมาย่าปริกได้แต่งงานกับปู่ทอเจ่าะ ชาวไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี และที่สุดได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่เกาะเกร็ด ทำการถ่ายทอดวิชามอญรำให้กับลูกหลานสืบมาจนทุกวันนี้